4. ตลาดเครื่องมือแพทย์ - ตอนที่ 7
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 23 พฤษภาคม 2566
- Tweet
ปัจจัยการขยายตัวของธุรกิจ ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐ (Government policy) และการเติบโตของบริการด้านสาธารณสุข (Public-health service) ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ (Medical-device industry) ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม อันได้แก่
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุน
- เครื่องเป็นมือแพทย์เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ซึ่งภาครัฐสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อรองรับเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Hub) และการขยายตลาดส่งออก (Export market) ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (= Cambodia, Laos, Myanmar, and Vietnam) ที่มีความต้องการสินค้าประเภทนี้มากขึ้น และ
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (National Economic and Social Development Plan) ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2564) ได้กำหนดทิศทางการส่งเสริมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ (Medical-device manufacturer) เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (National Strategy) 20 ปี โดยระยะแรก จะเน้นการส่งเสริมและการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ด้านอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่มีความต้องการใช้ในประเทศ (Domestic demand) สูง และใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ด้วยแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้จำนวนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมจึงเพิ่มสูงขึ้น
อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2561 ยอดขายในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าส่งออก (Export) เป็นสัดส่วน 30:70 ซึ่งมีการขยายตัวเฉลี่ย +7.1% และ ๙5.7% ต่อปี ตามลำดับ
ส่วนปัจจัยที่ช่วยในการขับเคลื่อน (Drive) ในสถานการณ์ที่ผ่านมา ได้แก่
- ไทยมีความได้เปรียบด้านคุณภาพการบริการ (Service quality) และมาตรฐาน (Standard) การรักษาพยาบาล
- นโยบายศูนย์กลางทางการแพทย์ ที่รัฐบาลไทยประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. ปี 2546 ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourism) ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และ
- การตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกเครื่องมือแพทย์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (Neighboring)
ในปี พ.ศ. 2562 ภาวะการณ์ผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศ พบการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีชี้วัดผลผลิต (Production index) ของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น +1.4% จากปี พ.ศ. 2561 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity utilization) อยู่ในระดับค่อนข้างสูง
ระหว่างปี พ.ศ. 2556 ถึง พ.ศ. 2562 พบว่าในปีแรกการเติบโตเป็นติดลบ (-2%) แต่หลังจากนั้นเป็นอัตราบวก แม้จะมีความผันผวนขึ้นลงปีต่อปี แล้วเพิ่มขึ้นสูงสุดในอัตราเกือบ +90% ในปี พ.ศ. 2560 แต่ในช่วง 7 ปีดังกล่าว อัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ +73.4%
แหล่งข้อมูล –